วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ตึกบาห์เรนเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

BWTC กังหันยักษ์แห่งบาห์เรน

บาห์เรน” จัดเป็นประเทศเล็กๆ ในอ่าวอาหรับ  ที่กล้าประกาศตัวเป็นฮับทางการเงินของตะวันออกกลาง จึงต้องมีการทุ่มลงทุนในโครงการก่อสร้างระดับเมกะโปรเจกต์เป็นจำนวนมาก อย่างโครงการ Financial Harbour ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงโครงการ Bahrain World Trade Center ที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของประเทศนี้

โครงการก่อสร้างอาคาร “Bahrain World Trade Center” หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า Bahrain WTC หรือ  BWTC ตั้งอยู่ที่เมืองมานามา ในประเทศบาห์เรน โดยมีมูลค่าการลงทุนถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อก่อสร้างตึกแฝดที่มีความสูง 240 เมตร ขนาด 50 ชั้น และชั้นใต้ดิน 4 ชั้น ซึ่งออกแบบโดย Atkins และมี Ramboll, Norwin A/S และ Elsam Engineering ทำหน้าที่ก่อสร้าง โดยเริ่มลงก่อสร้างในปี 2004 และได้เริ่มเปิดใช้มาตั้งแต่ปี 2008

โปรเจกต์นี้ ถูกสร้างขึ้นโดยมีเป้าหมายสำคัญในเรื่องการรักษาและอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่เป็นกระแสหลักของโลกในวันนี้ งานดีไซน์ของโครงการนี้จึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องการใช้พลังงานที่จะต้องบริโภคพลังงานให้ต่ำที่สุด ในขณะเดียวกันจะต้องเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และยังต้องใส่ใจในเรื่องการปลดปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการการการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากภายนอกอาคาร

แต่การจะทำให้อาคารหลังนี้เป็นอาคารยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิ่งแรกที่ผู้ออกแบบนึกถึงคือการนำแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้โครงการ แต่ก็พบว่าสภาพอากาศที่ร้อนสุดขั้วของบาห์เรนจะทำให้มีปัญหาตามมาในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ จึงต้องคิดค้นหาแนวทางอื่นที่ความเป็นไปได้มากกว่า ด้วยการเลือกที่จะติดตั้งเทอร์ไบขนาด 29 เมตร  บนสะพานเชื่อมที่มีความยาว 30 เมตร ระหว่างทาวเวอร์ทั้งสอง ตัวอาคารจึงถูกดีไซน์ให้สามารถรองรับกระแสลมจากชายฝั่งทะเลที่มีกำลังแรงมากๆ เพื่อขับเคลื่อนกังหันเทอร์ไบ

ความน่าสนในของทาวเวอร์แฝดคู่นี้ อยู่ที่ดีไซน์ที่เป็นการหลอมรวมของสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและมีเหตุผล โดยยึดหลักการออกแบบภายใต้แนวคิดพลังงานทดแทน Atkins ดีไซน์ให้อาคารคู่นี้ให้มีรูปร่างคล้ายใบเรือที่หันข้างเข้าหากัน ลักษณะของอาคารที่ถูก ออกแบบให้เป็นเหมือนปีกช่วยดักลมที่พัดผ่านทั้งสองอาคาร ลักษณะที่เหมือนใบเรือทำให้เกิดความแตกต่างด้านรูปทรงของอาคารในแต่ละชั้น โดยในระดับชั้นล่างๆ ปีกดักลมจะขนาดงใหญ่ที่สุด เพราะกระแสลมในระดับต่ำจะค่อนข้างเบาฐานของอาคารจึงถูกออกแบบให้กว้าง

ถัดขึ้นมาปีกจะเริ่มสอบเข้าหาส่วนยอดของอาคาร การลดขนาดลงในระดับที่สองก็เพราะว่ากระแสลมเริ่มแรงขึ้น และจะเล็กที่สุดในระดับสูงสุดซึ่งมีกระแสลมแรง จึงไม่จำเป็นต้องการปีกดักลมขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะทำให้เทอร์ไบแต่ละตัวสามารถหมุนได้อย่างสม่ำเสมอ แม้จะอยู่ในระดับกระแสลมที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงสุด และยังทำให้เส้นสายของอาคารดูดีมีเอลักษณ์อีกด้วย

นอกจากนี้ มีรายละเอียดในการกำหนดองศาที่ตั้งของอาคารให้ทำหน้าที่เป็นเหมือนอุโมงค์ลม ที่จะรับลมและรีดกระแสลมให้ไหลเร็วและแรงขึ้น ในช่วงที่พัดผ่านช่องว่างระหว่างอาคารทั้งสองหลัง เพื่อที่จะขับเคลื่อนเทอร์ไบ ซึ่งวิธีการนี้ได้มีการทดสอบแล้วในอุโมงค์ลม โดยกระแสลมจะวิ่งผ่านตัวอาคารเป็นลักษณะตัว โดยจะทำมุมกับกังหันลมประมาณ 45 องศา ซึ่งเป็นมุมที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนเทอร์ไบเพื่อที่จะผลิตกระแสได้อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าที่ถูกนำมาติดตั้งในโปรเจกต์นี้ ที่ถูกติดตั้งอยู่บนสะพานเชื่อมระหว่างอาคาร ซึ่งมีความแข็งแรงพอที่จะรับกระแสลมแรงจากอ่าวเปอร์เซีย โดยมันจะหันหน้าไปทางทิศเหนือเพื่อจะรับลมที่พัดเข้าสู่ฝั่ง เพื่อที่จะขับเคลื่อนกังหันลมกำเนิดไฟฟ้าขนาด 225 KW ทั้ง 3 ตัว ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้มากถึง 675 KW คิดเป็นปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ป้อนให้กับอาคารได้ราว 11-15% ของปริมาณไฟฟ้าที่อาคารคู่นี้ต้องใช้ หรือปีละประมาณ 1.1-1.3 GWh ซึ่งสามารถใช้เปิดไฟส่องสว่างให้กับบ้านเรือนได้มากถึง 300 หลังตลอด 1 ปีเต็มๆ

ปัจจุบัน กังลมทั้ง 3 ตัว ของ BWTC ได้หมุนเพื่อทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ผลงานชิ้นนี้ถือเป็นความสำเร็จของงานออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้พบเห็น ด้วยเทอร์ไบขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยถูกติดตั้งบนอาคาร และเป็นเทอร์ไบตัวแรกของโลกที่ถูกติดตั้งระหว่างอาคาร และมันยังเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมืองนี้ ในฐานะตึกสูงอันดับสองของบาห์เรน นอกจากความสำเร็จที่ได้รับจากการถูกกล่าวขานแล้ว BWTC ยังมีรางวัลระดับโลกเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จในหลายๆ ด้าน ด้วยการได้รับ LEAF Award ในฐานะโครงการที่ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด และ Sustainable Design Award แห่งโลกอาหรับ อีกด้วย
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น