วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2558

นกมานาคินปีกแถบขาว



ชาร์ลส์ ดาร์วิน กล่าวถึงนกมานาคินไว้ในหนังสือ การสืบเชื้อสายของมนุษย์ (The Descent of Man) ว่า “ความหลากหลายของเสียง...และความหลากหลายของวิธีการสร้างเสียงเหล่านั้นช่างน่าทึ่งยิ่งนัก ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าใจได้ดีว่าเสียงเหล่านั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสืบพันธุ์” 

แต่กว่าเราจะเข้าใจกลไกของการสร้างบทเพลงเหล่านั้นก็ต้องใช้เวลาอีกกว่าหนึ่งร้อยปี มีนักปักษีวิทยาเพียงหยิบมือที่ศึกษานกมานาคินปีกแถบขาว (club-winged manakin) ซึ่งพบได้ในประเทศโคลอมเบียและเอกวาดอร์ แต่คงไม่มีใครเข้าใจพวกมันดีไปกว่า คิม บอสต์วิก อีกแล้ว เธอเป็นภัณฑารักษ์ผู้ดูแลเกี่ยวกับนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พิพิธภัณฑ์สัตว์มีกระดูกสันหลัง มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University Museum of Vertebrates) บอสต์วิกผู้นี้เองที่ไขปริศนาของนกมานาคินปีกแถบขาวเพศผู้ได้สำเร็จ นกชนิดนี้ไม่เพียงโดดเด่นในหมู่นกมานาคินด้วยกัน แต่ยังเป็นมานาคินเพียงชนิดเดียวที่ใช้ขนสร้างเสียง ทิก ทิก ทิง เพื่อโปรยเสน่ห์ให้สาวหลงใหล

นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าปีกเป็นต้นกำเนิดเสียงก็จริง แต่ไม่รู้ว่ามีกระบวนการทำงานอย่างไร เพื่อไขปริศนานี้ บอสต์วิกใช้วิธีบันทึกการเคลื่อนไหวของนกด้วยกล้องวิดีโอที่เก็บภาพได้ 1,000 ภาพต่อวินาที เร็วกว่ากล้องวิดีโอธรรมดาถึง 30 เท่า การเล่นเทปสองสามเฟรมต่อวินาทีทำให้เธอพบคำตอบในที่สุด นั่นคือ นกตีปีกทั้งสองเข้าหากัน 107 ครั้งต่อวินาที หลังจากนำขนกลางปีก (secondary feather) ไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ บอสต์วิกพบว่า ปีกแต่ละข้างมีขนพิเศษเส้นหนึ่งที่มีกิ่งขนแยกกัน 7 กิ่ง ขนเส้นที่ห้าจะเสียดสีกับกิ่งขนเหล่านี้คล้ายกับการเกากีตาร์ด้วยปิ๊ก เพื่อให้ได้ระดับความถี่สูงอย่างน่าทึ่ง คือ 1,500 รอบต่อวินาที