วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ปีนัง

“ปีนัง” มนต์ขลังเมืองเก่า เล่าเรื่องราวหลากวัฒนธรรม
รถไฟรางที่นำขึ้นสู่ยอดปีนังฮิลล์
       พูดถึงความเก่านั้น ก็ใช่แต่จะหมายถึงด้านไม่ดีเสมอไป ของบางอย่างที่เป็นของเก่า ก็มีคุณค่าแบบที่ไม่สามารถประเมินราคาได้ หรือแม้แต่เมืองเก่าๆ ก็มีมนต์เสน่ห์ที่ทำให้หลายคนอยากเข้าไปสัมผัส อย่างเช่น “ปีนัง” หรือ รัฐปีนัง ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย
      
       นอกจากจะชอบเที่ยวในเมืองใหญ่ หรือออกไปตามป่าเขาลำเนาไพรแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ก็ชอบเที่ยวเมืองเก่าด้วยเหมือนกัน เมื่อมีโอกาสดีมาถึงให้ได้ไปเยี่ยมเยือนปีนัง ก็ย่อมต้องไม่พลาดอย่างแน่นอน
      
       ก่อนจะตะลอนเที่ยวกันในเมืองปีนัง เรามาทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของปีนังกันเสียหน่อย การท่องเที่ยวทริปนี้จะได้มีรสชาติมากยิ่งขึ้น
“ปีนัง” มนต์ขลังเมืองเก่า เล่าเรื่องราวหลากวัฒนธรรม
เจดีย์เจ็ดชั้น
       “ปีนัง” นั้นเป็นหนึ่งในสิบสามรัฐของมาเลเซีย ในภาษามาเลย์จะเรียกว่า “ปูเลาปีนัง” (Pulau Penang) ซึ่งมาจากคำว่า “ปีนัง” ที่แปลว่า “ต้นหมาก” โดยในสมัยก่อนนั้นบนเกาะปีนังจะพบต้นหมากขึ้นอยู่มากมายนั่นเอง และหากพูดถึงรัฐปีนัง จะหมายรวมถึงพื้นที่บนเกาะปีนัง และ เซเบอรังเปอไร (Seberang Parai) บนแผ่นดินใหญ่
      
       เกาะปีนังถูกค้นพบโดย กัปตันฟรานซิส ไลท์ (Captain Fransis Light) ชาวอังกฤษ ต่อมาในปี ค.ศ.1786 กัปตันไลท์ก็ได้รับมอบเกาะปีนังจากสุลต่านแห่งรัฐเคดาห์ ในนามของบริษัทอีสต์ อินเดีย คอมพานี ด้วยการทำสัญญาว่าจะปกป้องแผ่นดินนี้จากสยามประเทศ ซึ่งเขาก็ได้เปลี่ยนชื่อเกาะเสียใหม่ว่า “Prince of Wales Island” เนื่องด้วยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันเกิดของเจ้าชายแห่งเวลส์
      
       ต่อมาไม่นาน กัปตันไลท์ก็ได้ตั้ง “จอร์จทาวน์” (George Town) ขึ้นมา เพื่อให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษี ซึ่งก็มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้จอร์จทาวน์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีการเปิดสอนภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนในสมัยนั้นคนไทยที่พอมีฐานะนิยมจะส่งลูกหลานไปเรียนที่ปีนังเพื่อให้ได้เรียนภาษาอังกฤษ
“ปีนัง” มนต์ขลังเมืองเก่า เล่าเรื่องราวหลากวัฒนธรรม
เจ้าแม่กวนอิม ที่วัดเค็กลกซี
       ในปัจจุบัน ปีนังถูกกล่าวขานว่าเป็นไข่มุกแห่งตะวันออก เนื่องจากมีบ้านเมืองที่สวยงามและโรแมนติกที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะบนเกาะปีนังที่เราจะมาเที่ยวตะลอนกันในคราวนี้ และถ้าอยากจะเห็นว่าบ้านเมืองโดยรวมของเกาะปีนังเป็นอย่างไรบ้างนั้น ก็ต้องขึ้นมาที่ “ปีนังฮิลล์” (Penang Hill / Bukit Bendara) เนื่องจากเป็นจุดที่สูงที่สุดบนเกาะปีนัง
      
       การจะขึ้นไปสู่ยอดเขาปีนังฮิลล์ที่มีความสูงประมาณ 830 เมตรจากระดับน้ำทะเลนั้น จะต้องใช้บริการรถไฟรางเพื่อไต่ระดับขึ้นไป ระหว่างที่รถไฟเคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ ก็จะผ่านสวนป่าที่มีต้นไม้ดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ ดูแล้วสดชื่นสบายตาจากความเขียวชอุ่ม
“ปีนัง” มนต์ขลังเมืองเก่า เล่าเรื่องราวหลากวัฒนธรรม
ทิวทัศน์รอบๆ ปีนัง
       พอขึ้นไปถึงด้านบนสุดก็จะได้สูดอากาศบริสุทธิ์เย็นสบาย พร้อมกับชมทิวทัศน์ที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ซึ่งจะเห็นทั้งจอร์จทาวน์ ที่ในปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของรัฐปีนัง ไปจนถึงชายฝั่งทะเล ขึ้นมาถึงด้านบนแล้วก็ต้องใช้เวลาดื่มด่ำกับบรรยากาศดีๆ มากสักหน่อย แล้วค่อยลงมาสำรวจแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ กันบ้าง
      
       ด้วยเหตุที่มาเลเซียมีประชากรหลากหลายเชื้อชาติมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน จึงทำให้วิถีชีวิต อาหารการกิน บ้านเรือน และบรรยากาศในเมืองนั้นเต็มไปด้วยการผสมผสานของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในปีนังนี่เอง
“ปีนัง” มนต์ขลังเมืองเก่า เล่าเรื่องราวหลากวัฒนธรรม
อนุสรณ์สงครามโลกครั้งที่ 1
       เริ่มแรกนั้น ลองไปสัมผัสวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนกันก่อนที่ “วัดเค็กลกซี” (Kek Lok Si Temple) หรือ วัดเขาเต่า หากใครจะขึ้นมาให้ถึงที่วัดนี้ ต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากทางขึ้นมายังวัดนั้นเป็นบันไดเดินขึ้นเนินเขาเรื่อยๆ ระยะทางไม่ใกล้ไม่ไกลมากนัก แต่ก็พอให้รู้สึกว่าเหงื่อเริ่มซึม และระหว่างทางเดินขึ้นก็จะผ่านร้านค้า ร้านขายของฝากที่กวักมือเรียกให้นักท่องเที่ยวทั้งหลายเข้าไปเยี่ยมชม
      
       ผ่านจากบรรดาร้านค้ามาได้ ก็จะมาถึงบ่อเต่าขนาดใหญ่ ที่มีเต่าตัวใหญ่นอนกองรวมกันอยู่ ด้านนอกบ่อก็จะมีคนขายผักบุ้งร้องเรียกให้ซื้อเพื่อทำบุญให้เต่าตาดำๆ มีทั้งภาษามาเลย์ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ แถมยังมีซับไตเติ้ลภาษาไทย สำหรับนักท่องเที่ยวหน้าตาไทยแท้ๆ อย่างเราอีกด้วย ใครที่ใจบุญสงสารพี่เต่า หรือทนเสียงเรียกร้องของพ่อค้าไม่ไหวก็แวะให้อาหารเต่ากันเสียหน่อย แล้วค่อยออกเดินต่อไปยังวัด
“ปีนัง” มนต์ขลังเมืองเก่า เล่าเรื่องราวหลากวัฒนธรรม
อาคารทาวน์ฮอลล์
       มาถึงทางเข้าวัดแล้วก็จะผ่านร้านขายของฝากของทางวัด ที่มีทั้งเครื่องรางของขลัง และของฝากมากมาย จากนั้นก็เป็นบันไดทางขึ้นไปอีกเล็กน้อย ก่อนจะถึงตัววัดเสียที
      
       มองเข้าไปในวัดแล้วจะได้กลิ่นอายสถาปัตยกรรมแบบจีนอย่างเต็มเปี่ยม แม้จะมีผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาท่องเที่ยวที่วัดแห่งนี้ แต่คนส่วนใหญ่ก็มาด้วยใจศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งคนที่มาที่นี่ นิยมมาไหว้พระและเทพเจ้าองค์ต่างๆ
      
       เริ่มจากจุดที่น่าสนใจมากอีกจุดหนึ่งภายในวัดแห่งนี้ ก็คือ เจดีย์เจ็ดชั้น ที่มีความงดงามจากการผสมผสานศิลปะจาก 3 ชาติ คือ ฐานเจดีย์เป็นแบบจีน ตัวเจดีย์เป็นแบบไทย และยอดเจดีย์เป็นแบบพม่า โดยจะมีการตกแต่งด้วยพระพุทธรูปสำริดและพระพุทธรูปศิลาขาวทั้งหมด 10,000 องค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีระหว่างนิกายมหายานและเถรวาท
      
       หลังจากชมเจดีย์ที่งดงามแล้ว ก็ตรงเข้าไปไหว้พระและเทพเจ้าองค์ต่างๆ ที่ด้านใน ซึ่งก็ต้องขึ้นบันไดไปอีกเล็กน้อย จากนั้นก็มาถึงไฮไลต์สำคัญของวัดเค้กลกซี ก็คือ องค์เจ้าแม่กวนอิมที่อยู่ด้านบนสุดของวัด โดยจะต้องขึ้นรถรางต่อขึ้นไปอีก
“ปีนัง” มนต์ขลังเมืองเก่า เล่าเรื่องราวหลากวัฒนธรรม
ป้อมคอร์นเวลลิส
       สำหรับองค์เจ้าแม่กวนอิมเป็นรูปหล่อสำริด ที่มีความสูงราว 30 เมตร ตั้งตระหง่านงดงามอยู่ที่ด้านบนสุดของวัด ซึ่งบริเวณรอบๆ นั้นก็มีการตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างงดงาม สามารถชมทัศนียภาพรอบๆ เกาะปีนังได้สะดวก และข้างๆ กันนั้นก็มีศาลาประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิมไม้แกะสลักให้เข้าไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลกันอีกด้วย
      
       ผู้คนที่ทยอยกันเข้ามายังวัดแห่งนี้ มีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ และชาวมาเลเซียที่อุ้มลูกจูงหลานเข้ามา เรียกได้ว่าวัดเค็กลกซี เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของปีนัง และยังมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะวัดที่มีขนาดใหญ่และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่หากมาเยือนปีนังแล้วก็ไม่ควรพลาดเลยทีเดียว
“ปีนัง” มนต์ขลังเมืองเก่า เล่าเรื่องราวหลากวัฒนธรรม
บรรยากาศในย่านลิตเติ้ลอินเดีย
       ได้ไหว้พระทำบุญกันแล้ว ก็มาลองสัมผัสกับเมืองเก่าทรงเสน่ห์ ที่ยังเป็นจุดดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกกันดูบ้าง ที่นี่คือ “จอร์จทาวน์” (George Town) เมืองหลวงของรัฐปีนัง และยังได้รับเลือกให้เป็นเมืองมรดกโลกพร้อมกับมะละกา ในปี ค.ศ.2008 จากสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนาน
      
       การท่องเที่ยวภายในจอร์จทาวน์ต้องใช้เวลาในการซึมซับบรรยากาศที่ผสมผสานระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกอย่างลงตัว “ตะลอนเที่ยว” จึงเลือกวิธีการเดินเท้า เดินชมตึกรามบ้านช่องตามรายทางไปเรื่อยๆ นอกจากจะได้ชื่นชมกับบ้านช่องที่มีร่องรอยของอดีตอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ก็ยังได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในย่านจอร์จทาวน์อีกด้วย
“ปีนัง” มนต์ขลังเมืองเก่า เล่าเรื่องราวหลากวัฒนธรรม
ขนมแบบอินเดียก็มีขาย
       เราเริ่มต้นการเดินกันที่บริเวณ “เอสพลานาร์ด” ลานโล่งๆ ริมทะเลที่จัดตกแต่งเป็นสัดส่วนสบายตา โดยบริเวณนั้นจะมี “อนุสรณ์สงครามโลกครั้งที่ 1” (The Cenotaph) อยู่ด้านข้าง ส่วนใกล้ๆ กันนั้นก็เป็นอาคารเก่าที่เคยใช้เป็น “ทาวน์ฮอลล์” (Town Hall) และ “ซิตี้ฮอลล์” (City Hall) โดยอาคารซิตี้ฮอลล์ จะเป็นอาคารสีขาวสไตล์โคโลเนียล โดดเด่นด้วยเสาแบบกรีกและหน้าต่างบานใหญ่ ส่วนทาวน์ฮอลล์ จะเป็นอาคารสีเหลืองอ่อนสลับขาว สถาปัตยกรรม British Empire
      
       เดินข้ามมาอีกฝากหนึ่งก็จะเห็นปืนกระบอกใหญ่ตั้งอยู่ด้านหลังกำแพงสูง ซึ่งบริเวณนี้มีชื่อเรียกว่า “ป้อมคอร์นเวลลิส” (Fort Cornwallis) ที่หากเข้าไปเดินชมภายในแล้วก็จะสามารถมองเห็นโครงสร้างเก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่น โบสถ์ คลังเก็บดินปืน ประภาคาร และยังมีปืนเก่าชื่อ “เสรีรัมใบ” ซึ่งเป็นปืนใหญ่ของฮอลันดาที่มอบให้เป็นของกำนัลแก่สุลต่านยะโฮร์ แต่ถูกโปรตุเกสชิงไปแล้วส่งต่อไปยังชวา สุดท้ายอังกฤษก็นำกลับมาไว้ที่นี่
“ปีนัง” มนต์ขลังเมืองเก่า เล่าเรื่องราวหลากวัฒนธรรม
มัสยิดกาปิตัน เคลิง
       ได้รับบรรยากาศแบบตะวันตกกันไปบ้างแล้ว ก็ขอเดินต่อมาเรื่อยๆ ยังบริเวณที่มีกลิ่นอายแบบตะวันออกบ้าง แบบนี้ก็ต้องมาที่ “ลิตเติ้ลอินเดีย” (Little India) ชุมชนของชาวอินเดียที่มีทั้งโบสถ์ฮินดูเก่าแก่ บ้านเรือนที่ตกแต่งในสไตล์อินเดีย มีร้านขายอาหารของคาวของหวานแบบอินเดีย หรือจะดูหนังฟังเพลงอ่านหนังสืออินเดีย ที่มีก็มีครบทุกสิ่ง แถมยังเห็นสาวอินเดียห่มส่าหรีสีสันสวยสดเดินผ่านไปผ่านมา ได้อารมณ์เดินในเมืองหนึ่งในประเทศอินเดีย มากกว่าจะอยู่ที่ปีนังเสียอีก 
       แต่ถึงจะเป็นชุมชนอินเดีย บริเวณใกล้ๆ กันนั้นก็ยังมี “วัดเจ้าแม่กวนอิม” ที่สร้างขึ้นโดยชาวจีนฮกเกี้ยนและชาวจีนกวางตุ้งกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากบนเกาะปีนัง น่าเสียดายว่าตอนที่เราไปถึงภายในวัดกำลังทำการปรับปรุงอยู่ จึงสามารถชมความงดงามของวัดได้แค่เพียงภายนอกเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น