วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ


พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เสด็จพระราชสมภพเมี่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2465 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต และสมเด็จพระมหากษัตริยานีสีสุวัตถิ์ กุสุมะ นารีรัตน์ สิริวัฒนา ในวัยเรียนนั้น พระราชบิดาของพระองค์ต้องการให้พระราชโอรสนั้นได้รับการศึกษาเยี่ยงสามัญชน พระองค์จึงเข้าศึกษาในโรงเรียนเอกอล ฟรองซัวส์ โบดอง ในกรุงพนมเปญ นอกจากนี้ พระราชบิดายังทรงเลี้ยงพระโอรสมาไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ และต้องการให้ใกล้ชิดกับประชาชน ดังนั้นพระองค์จึงต้องทรงเดินไปโรงเรียนทุกวัน
 
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ ผู้เป็นไอยกา สวรรคตลงเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2484 หลังจากนั้น ฝรั่งเศสในฐานะผู้ปกครอง จึงให้การสนับสนุนพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ 19 พรรษา
 
ช่วงชีวิตในการครองราชย์ของพระองค์ ทรงผ่านเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองมามากมาย โดยหลังจากที่พระองค์ทรงประกาศเอกราชแก่กัมพูชาจากฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2496 พระองค์ทรงสละราชสมบัติให้กับพระราชบิดาของตัวเองเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2498 เพื่อลงเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว โดยทรงได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้น นายพลลอน นอล นายกรัฐมนตรีคนถัดมากลับก่อการปฏิวัติเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2513 ทำให้พระองค์ต้องทรงลี้ภัย ไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่ประเทศจีน
 
ขณะเดียวกัน กองกำลังเขมรแดงภายใต้การนำของ "พอล พต" เริ่มขยายมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดการต่อสู้ถึงสามฝ่ายในกัมพูชา คือฝ่าย นายพลลอน นอล เขมรแดง และกลุ่มสนับสนุนสมเด็จสีหนุ และแล้ว เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518 การสู้รบสิ้นสุดลง เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะ เขมรแดงเข้ายึดกรุงพนมเปญไว้ได้ เจ้าสีหนุได้กลับมายังกัมพูชา ในฐานะประมุขแห่งรัฐอีกครั้ง แต่ 4 ปีที่เขมรแดงปกครองกัมพูชา ชาวกัมพูชากว่า 2 ล้านคน ต้องสังเวยชีวิตให้กับแนวคิดซ้ายจัด สมเด็จสีหนุทรงดำรงตำแหน่งเป็นประมุขอยู่ได้เพียงหนึ่งปีก็ทนไม่ไหว ต้องขอลาออกจากตำแหน่งและลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีนอีกครั้ง
 
การปกครองที่โหดเหี้ยมของเขมรแดง สิ้นสุดลง เมื่อเวียดนามส่งกำลัง เข้าช่วยจนสามารถบุกยึดกรุงพนมเปญได้และจัดตั้งรัฐบาล โดยให้ เฮง สัมริน (Heng Samrin) เป็นประธานาธิบดี และเปลี่ยนชื่อ อย่างเป็นทางการของประเทศ เป็น สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา สมเด็จสีหนุทรงใช้วิถีทางการทูต เดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อขอความสนับสนุน และกดดันให้เวียดนาม ถอนทหารออกจากกัมพูชา รวมทั้งใช้กำลังทหารเข้าขับไล่ ในที่สุดเวียดนาม ก็ยอมถอนทหารชุดสุดท้าย ออกจากกัมพูชาในปี 2532 และเมื่อ ปี 2534 เขมร ทั้ง 4 ฝ่าย ได้ร่วมลงนาม ในข้อตกลงสันติภาพ เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ตามระบอบประชาธิปไตย ภายใต้การดูแล ของสหประชาชาติ
 
หลังจากความวุ่นวายทางการเมืองหลายปี สมเด็จสีหนุสถาปนาราชอาณาจักรกัมพูชาขึ้นมาใหม่ และทรงครองราชสมบัติครั้งที่สองเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2536 ก่อนจะทรงสละราชสมบัติเมี่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2547 เพื่อให้เจ้าชายนโรดม สีหมุนี พระราชโอรส เสด็จขึ้นครองราชย์แทน การที่พระองค์ประกาศสละราชสมบัติถูกจับตามองจากนักวิเคราะห์ ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งความเบื่อหน่ายการเมือง ภายใต้การนำของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี หรืออาจจะเป็นเพราะพระพลานามัยที่อ่อนแอลง โดยพักหลังมานี้ พระองค์มักจะเสด็จไปต่างประเทศบ่อยครั้งเพื่อรับการรักษา
 
จนกระทั่งในช่วงเช้าวันที่ 15 ตุลาคม 2555 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เสด็จสู่สรวงสวรรคาลัย ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งให้การยกย่องว่าพระองค์คือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ และเสียสละเพื่อแผ่นดินอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น