วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ไข้หวัดอูฐ

       โรคเมอร์ส-โควี ประชิดไทย พบมาเลเซียติดเชื้อและเสียชีวิตรายแรกแล้วหลังเดินทางไปซาอุดีอาระเบีย กำชับทุกโรงพยาบาลคุมเข้ม ผู้ป่วยอาการคล้ายปอดบวม สั่งแยกตัวห้องปลอดเชื้อ ตรวจเสมหะพิสูจน์เชื้อ เฝ้าระวังต่างชาติที่มาจากตะวันออกกลาง ระบุตรวจอูฐในไทยแล้วไม่พบติดเชื้อ
อันตราย! โรคเมอร์ส-โควี ประชิดไทย พบตาย 1 รายที่มาเลย์ สั่งแยกผู้ป่วยปอดบวมเข้าห้องปลอดเชื้อ ตรวจเสมหะ
       วันนี้ (18 เม.ย.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมาเลเซียพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2012 หรือไวรัสเมอร์ส-โควี (MERS-CoV : Middle East Respiratory Syndrome -Coronavirus) รายแรก เป็นชายวัย 54 ปี หลังเดินทางกลับจากเมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 เม.ย. โดยมีประวัติสัมผัสอูฐและดื่มนมอูฐ ว่า ขณะนี้ไทยกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางไปในพื้นที่ระบาด ไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไทยมีระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคที่เข้มแข็ง และได้สั่งให้ทุกจังหวัดเข้มมาตรการเฝ้าระวังโรค ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน รวมทั้งให้การรักษาผู้ป่วยสงสัย โดย สธ.ไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียนบวก 3 มีระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อและใช้มาตรการควบคุมป้องกันโรคร่วมกัน ทำให้สามารถรู้สถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างรวดเร็ว
      
       นพ.ณรงค์ กล่าวว่า มาตรการจะยึดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อจำกัดการเดินทาง โดยมุ่งเน้นการให้คำแนะนำประชาชนทั้งชาวไทยที่เดินทางไปประเทศที่มีการระบาด ทั้งเพื่อดำเนินธุรกิจ ท่องเที่ยว และประกอบพิธีกรรมศาสนา ขอให้หลีกเลี่ยงการไปฟาร์มปศุสัตว์ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดหรือมีอาการปอดบวม หลังจากเดินทางกลับประเทศหากมีอาการไข้ ไอ เกิน 2 วัน ขอให้พบแพทย์ได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ และแจ้งประวัติการเดินทางทุกครั้ง รวมถึงเฝ้าระวังในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางด้วย
      
       “ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน เพิ่มระดับการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีไข้และปอดบวมหรือปอดอักเสบร่วม ขอให้ซักประวัติการเดินทางทุกราย และแยกดูแลในห้องปลอดเชื้อ โดยใช้ระบบการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ รวมทั้งเก็บตัวอย่างเสมหะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้ สธ. ได้ประชุมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จาก คร. กรมการแพทย์ สำนักระบาดวิทยา โดยได้ให้กรมการแพทย์ ทบทวนคู่มือแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้ เพื่อเป็นมาตรฐานแก่แพทย์ทั่วประเทศ” ปลัด สธ. กล่าว
      
       ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า ได้ประชุมผู้เชี่ยวชาญและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ เฝ้าระวังการติดเชื้อในอูฐที่มีการเลี้ยงในไทยหลายแห่ง ไม่พบการติดเชื้อใดๆ ในส่วนของคำแนะนำเพื่อการเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส-โควี คร.จะเร่งดำเนินการให้คำแนะนำทางวิชาการที่เหมาะสม ให้แก่สายการบินระหว่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สถานกงสุลไทย และกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะมีการติดตามสถานการณ์จาก WHO และภูมิภาคอย่างใกล้ชิด และขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อคัดกรองผู้เดินทางที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เนื่องจากองค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ใช้และมีประโยชน์ในการเฝ้าระวังโรคนี้น้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น