วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ลามาร์แซแยซ



ลามาร์แซแยซ (ฝรั่งเศสLa Marseillaise, "เพลงแห่งเมืองมาร์แซย์") เป็นชื่อของเพลงชาติสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยโกลด โฌแซ็ฟ รูเฌ เดอ ลีล เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2335 ที่เมืองสทราซบูร์ในแคว้นอาลซัส เดิมเพลงนี้มีชื่อว่า "Chant de guerre de l'Armée du Rhin" (แปลว่า "เพลงมาร์ชกองทัพลุ่มน้ำไรน์") เดอลีลได้อุทิศเพลงนี้ให้แก่นายทหารชาวแคว้นบาวาเรีย (อยู่ในประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน) ซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศสผู้หนึ่ง คือจอมพลนีกอลา ลุคเนอร์ (Nicolas Luckner) เมื่อกองทหารจากเมืองมาร์แซย์ได้ขับร้องเพลงนี้ขณะเดินแถวทหารเข้ามายังกรุงปารีส ทำให้เพลงนี้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป และกลายเป็นเพลงปลุกใจในการร่วมปฏิวัติฝรั่งเศส ทั้งยังเป็นที่มาของชื่อเพลงลามาร์แซแยซดังปรากฏอยู่ในปัจจุบันด้วย
สมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสได้ออกประกาศรับรองให้เพลงลามาร์แซแยซเป็นเพลงชาติฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2338ต่อมาเพลงนี้ได้ถูกงดใช้ในช่วงรัชสมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1 และ พระเจ้าหลุยส์ที่ 18และมีการนำเพลงอื่นมาใช้เป็นเพลงชาติฝรั่งเศสแทนในระยะเวลาดังกล่าวแทน โดยรัชสมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ใช้เพลงชาติที่ชื่อว่า Veillons au Salut de l'Empire และ โดยรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ใช้เพลงชาติที่ชื่อว่า Le Retour des Princes Français à Paris หลังการปฏิวัติในปี พ.ศ. 2373 เพลงนี้ก็ได้กลับมาใช้เป็นเพลงชาติในระยะสั้น ๆ แต่ก็งดใช้อีกครั้งในสมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ตราบจนกระทั่งฝรั่งเศสเข้าสู่สมัยสาธารณรัฐที่ 3เพลงนี้จึงได้รับการรับรองให้เป็นเพลงชาติอย่างถาวรเมื่อ พ.ศ. 2422[1]


File:Pils - Rouget de Lisle chantant la Marseillaise.jpg

อิทธิพลของลามาร์แซแยซ

เพลงลามาร์แซแยซได้ถูกใช้เป็นเพลงปฏิวัติฝ่ายสาธารณรัฐโดยชาวรัสเซียซึ่งรู้ภาษาฝรั่งเศสในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งไล่เลี่ยกับช่วงเวลาการปฏิวัติในฝรั่งเศส ถึงปี ค.ศ. 1875 ปีเตอร์ ลัฟรอฟ (Peter Lavrov) นักปฏิวัติและนักทฤษฎีกลุ่ม Narodism ได้เขียนเพลงโดยใส่เนื้อร้องภาษารัสเซียขึ้นใหม่ตามทำนองเพลงลามาร์แซแยซ และให้ชื่อเพลงว่า "มาร์แซแยซของกรรมกร"("Rabochaya Marselyeza", "Worker's Marseillaise") ซึ่งเพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงปฏิวัติยอดนิยมเพลงหนึ่งในรัสเซียและได้มีการใช้ในการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1905ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 เพลงนี้ก็ได้มีลักษณะเป็นกึ่งเพลงชาติของสาธารณรัฐที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนตุลาคมซึ่งเกิดขึ้นในปีเดียวกัน เพลงนี้ก็ยังคงใช้เป็นเพลงปฏิวัติควบคู่กับเพลงแองเตอร์นาซิอองนาล[3]
สำหรับประเทศไทย เพลงลามาร์แซแยซได้เป็นแรงดลใจให้คณะราษฏรคิดเพลงชาติขึ้นใหม่ในช่วงการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475[4] และยังมีการนำทำนองไปใช้ในเพลงมาร์ชต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียง อันได้แก่ เพลง "มาร์ช ม.ธ.ก." ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ม.ธ.ก. เป็นอักษรย่อนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อครั้งยังใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง") ซึ่งประพันธ์โดยทวีป วรดิลก ในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2490 และเพลง "มาร์ชลาดยาว" ซึ่งประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ขณะที่เขาถูกคุมขังในเรือนจำลาดยาว (เรือนจำคลองเปรม) ด้วยคดีการเมือง ระหว่างปี พ.ศ. 2503 - 2505 เพื่อใช้ร้องในงานรื่นเริงภายในคุก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น