แม้ ปารีส ของ ฝรั่งเศส จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นมหานครแห่งความรัก แต่เมือง เวโรน่า ของ อิตาลี ก็ขึ้นชื่อไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในเรื่องความโรแมนติก และเป็นสัญลักษณ์ของความรัก
เวโรน่า อิตาลี ยังติดอันดับ 10 อันดับ เมืองน่าเที่ยว ช่วงคริสต์มาส
Travel.mthai ชวนตามรอย โรมิโอ-จูเลียต… เพราะที่นี่เป็นบ้านเกิดของตำนานรักอมตะ Romeo & Juliet ของวิลเลียม เชคสเปียร์ และยังมี Casa di Giulietta หรือบ้านของจูเลียต เป็นศูนย์กลางดึงดูดความสนใจของคู่รัก (และไม่รัก) จากทั่วโลกให้เดินทางมาสัมผัสเสี้ยวหนึ่ง ของโศกนาฏกรรมรักกันที่นี่ด้วย
และที่บ้านของจูเลียตนี้เอง… ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อตามหาความเชื่อในรักแท้ ของผู้หญิงต่างวัย 2 คน (และอีก 1 หนุ่ม) ในหนัง Letters to Juliet ผลงานของ แกรี่ วินิค (ซึ่งถือเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของเขาก่อนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในสมอง) อันเนื่องมาจากการที่สาวน้อย โซเฟีย
(อาแมนด้า ไซเฟร็ด) นักเขียนชาวอเมริกัน เดินทางมาพรีฮันนีมูนที่ เวโรน่า กับกับคู่หมั้นหนุ่ม วิคเตอร์ (กาเอล การ์เซีย เบอร์นัล) แต่กลับโดนทิ้งให้เที่ยวเพียงลำพัง เพราะวิคเตอร์มัวแต่ยุ่งกับธุระเรื่องธุรกิจของเขา ซึ่งที่บ้านของจูเลียตนี้ เป็นสถานที่ที่เชื่อกันว่า ถ้ามาอธิษฐานหรือเขียนจดหมายถึงจูเลียตแล้วจะสมหวังในความรัก และโซเฟียก็ได้พบกับจดหมายฉบับหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้กว่า 50 ปี เขียนขึ้นโดย แคลร์ (วาเนสซ่า เร็ดเกรฟ) ถึง ผู้ชายชาวอิตาลี (ฟรานโก เนโร) ที่เธอเคยตกหลุมรักเมื่อครั้งเยาว์วัย
โซเฟียเลือกที่จะตอบจดหมายของแคลร์ และกลายเป็นแรงผลักสำคัญ ที่ทำให้เธอกล้าที่ลุกขึ้นมาตามหาความรักที่สูญหายไปอีกครั้ง ทั้งยังทำให้โซเฟียได้กลับมานั่งทบทวนถึงความรักและความสัมพันธ์ที่เธอมีกับวิคเตอร์อีกด้วย
แท้จริงแล้ว บ้าน เลขที่ 27 ถนน Via Cappello ที่เรียกว่าบ้านของจูเลียตแห่งนี้ เป็นเพียงโรงแรมเก่าแก่ที่ถูกอุปโลกน์ให้กลายเป็นบ้านของตระกูล Capulet เพราะจูเลียตและตระกูลนี้ไม่เคยมีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ เป็นเพียงตัวละครในนิยายเก่าแก่เท่านั้น แต่ใครเลยจะคิดว่า ความเชื่อและจินตนาการของคนเรา จะก่อให้เกิดอะไรขึ้นได้มากมาย
สังเกตได้จากภายในบริเวณบ้าน บนกำแพงและพื้นที่ใต้ระเบียงอันโด่งดังนั้น กลับเต็มไปด้วยข้อความบอกรักและคำอธิษฐานเกี่ยวกับความรัก อัดแน่นอยู่จนแทบไม่มีที่ว่าง นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่า หากได้สัมผัสหน้าอกของรูปปั้นจูเลียตที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณบ้านแล้ว จะทำให้มีโชคดีด้านความรัก และกิจกรรมที่ฮิตไม่แพ้กันนั่นก็คือ การขึ้นไปยืนบนระเบียงหินอ่อน จุดเดียวกันกับที่จูเลียตเคยยืนโดยมีโรมิโอมาคอยเฝ้าขอความรัก ด้วยประโยคสุดโรแมนติก…
ถ้าคิดกันตามจริงแล้ว ความเชื่อต่างๆ นั้นดูจะขัดแย้งกับเรื่องราวของตัวจูเลียตเองไม่น้อย เพราะความรักของเธอเอง จบลงด้วยโศกนาฏกรรม แต่ในแต่ละปีกลับมีจดหมายกว่า 5 พันฉบับ จากหญิงสาว (และชายหนุ่มบางส่วน) ทั่วโลก เขียนส่งมาถึงจูเลียตเพื่อขอพรความรัก (และคำปรึกษา) จากเธอ จนกระทั่ง มีการตั้ง Club di Giulietta หรือ Juliet Club ขึ้น ในปี 1930 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากเทศบาลเมืองเวโรน่า และมีอาสาสมัครมาคอยช่วยตอบจดหมายเหล่านี้ (ซึ่งในหนัง โซเฟียก็เข้าไปเป็นอาสาสมัครเพื่อตอบจดหมายของแคลร์)
อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อไม่สมหวังในความรักของตัวเอง จูเลียตจึงอยากอวยพรให้คนอื่นๆ ได้สมหวังในความรักบ้างก็เป็นได้ ยิ่งผนวกกับความเชื่อ ความหวานของคู่รัก และบรรยากาศโรแมนติก ที่ลอยอบอวลอยู่ในมวลอากาศในบ้านของจูเลียตและเมืองสวยคลาสสิคอย่างเวโรน่า ก็คงยากที่ใครจะไม่เกิดความรู้สึกตกหลุมรักคนข้างๆ อีกครั้ง
Rainy day in Verona | Italy (By Peter Gutiérrez)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น