วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความเป็นมาของชื่อสามเหลี่ยมทองคำ



จากที่เห็นเครื่องหมาย     ในแผนที่ หมายถึง บริเวณที่มีการปลูกฝิ่นมากของสามประเทศคือ ประเทศไทย ประเทศเมียนมาร์(พม่า) และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 100,000 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศมากจะเป็นเทือกเขาสูง เมื่อมองจากแผนที่จะดูคล้ายรูปสามเหลี่ยม ซึ่งมีจุดศูนย์กลางคือ จุดที่เขตแดนของทั้งสามประเทศมาจรดกัน (โดยมีแนวแม่น้ำ 2 สาม คือ แม่น้ำโขง และแม่น้ำรวก เป็นเส้นกั้นเขตแดน) พื้นที่ฝั่งประเทศไทย คือ บ้านสบรวก* ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ฝั่งประเทศเมียนมาร์(พม่า) คือ บ้านผักฮี้ ต.เมืองพง อ.ท่าขี้เหล็ก จ.เชียงตุง และฝั่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ บ้านกว๊าน เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว

            การซื้อขายฝิ่น (ซึ่งมีราคาแพงจนได้ฉายาว่า “Black Gold” หรือ “ทองดำ”) แต่เดิมมักใช้ทองคำเป็นตัวแลกเปลี่ยน บริเวณนี้ในอดีตจึงมีทองคำแพร่หลายมาก และเนื่องจากมีการหักหลังกันบ่อย โดยการยัดไส้ การแลกเปลี่ยนกันจึงต้องมีการผ่าพิสูจน์ ทั้งก้อนฝิ่นและก้อนทองคำ ต่อหน้ากันทั้งสองฝ่าย

            เหล่านี้จึงอาจเป็นที่มาของชื่อ “สามเหลี่ยมทองคำ” หรือ “Golden Triangle” ลักษณะชายแดน 3 ประเทศมาจรดกัน ที่เรียกว่า “สามเหลี่ยม” นี้ มีมากกว่าสิบแห่งในโลก แต่แห่งไหนไม่โด่งดังเท่า “สามเหลี่ยมทองคำ” เพราะ สามเหลี่ยมนี้มี “ฝิ่น”

            *คำว่า “สบรวก” หมายถึง แม่น้ำรวก มาพบหรือมาสบกับแม่น้ำโขงหรืออาจ หมายถึง ปากแม่น้ำรวก เพราะว่าภาษาไทยใหญ่คำว่า “สบ” แปลว่า “ปาก”


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น