‘ส้มมือ’ หรือที่มักจะเรียกกันติดปากว่า ‘ส้มโอมือ’ เป็นชื่อส้มชนิดหนึ่ง ในวงศ์ Rutaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Citrus medica Linn.var.sarcodactylis Swing. เป็นพืชประเภทส้มที่เก่าแก่ที่สุด มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย
ในประเทศอินเดียเรียกว่า ‘บารานิมบู’ (Bara nimbu) แต่พวกฝรั่งมักเรียกกันว่า ‘ส้มพระหัตถ์พุทธองค์’ (Buddha’s Hand) หรือ ‘ส้มนิ้วพระหัตถ์’ (Buddha’s Fingers) หรือชาวจีนเรียกว่า ‘ฝอโส่ว’ ซึ่งแปลว่านิ้วพระหัตถ์เช่นเดียวกัน
เหตุที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะรูปร่างของผลเจ้าส้มมือนี้ คล้ายดังพระหัตถ์หรือนิ้วพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า คือมีลักษณะเป็นนิ้วมือเรียวยาวห้อยลงมา ซึ่งแปลกกว่าส้มอื่นๆ ที่มีลักษณะกลม
ต้นส้มมือหรือต้นส้มนิ้วพระหัตถ์ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงราว 3-6 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็ง ใบเป็นใบเดี่ยว รูปทรงรี หนา โคนใบมนกลม ปลายแหลมมน ใบค่อนข้างหนา ขอบใบหยัก ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ผลมีผิวขรุขระ มีร่องแฉกคล้าย นิ้วมือกว่า 10 นิ้ว เมื่อสุกจะมีสีเหลืองสด ภายในผลสีขาว ไม่มีเมล็ด
เปลือกหนาคล้ายเปลือกส้มโอ ผิวเปลือกมีน้ำมันหอมระเหย กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นมะนาว ส่วนเนื้อแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ มักไม่นิยมนำผลมารับประทานสดเหมือนส้มทั่วไป แต่จะนำเปลือกไปใช้ประกอบในการปรุงอาหาร และทำยา เพราะมีสรรพคุณในการกระตุ้นหัวใจ บำรุงหัวใจ บำรุงตับ ทำให้เลือดลมดี ชาวตะวันตกรู้จักสรรพคุณของส้มมือมานานแล้ว จึงตั้งชื่อเป็นภาษาละตินว่า ‘medica’ หมายถึง สิ่งที่มีสรรพคุณทางยา
ส่วนชาวจีนและญี่ปุ่นมักใช้ส้มมือเป็นผลไม้มงคลในพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนา รวมทั้งใช้เป็นเครื่องหอมดับกลิ่นด้วย ส่วนคนไทยสมัยก่อนก็คุ้นเคยกับส้มมือที่นำมาใช้ทำเป็นยาดม เรียกกันว่า ‘ยาดมส้มโอมือ’ ที่มีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ใช้สูดดมบรรเทาอาการเป็นลม หน้ามืดตาลาย แต่สมัยนี้ยาดมส้มโอมือไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เพราะส้มมือที่นำมาใช้ทำยาดมนั้นหายาก มีปลูกกันไม่กี่แห่งเท่านั้น ประกอบกับกลิ่นของยาดมส้มมือไม่เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน